การสร้างวัด
ตามกฎกระทรวงการสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย และการยุบเลิกวัด การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา และการยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา
พ.ศ. ๒๕๕๙ (หมวด ๑)
หลักเกณฑ์ในการขออนุญาตสร้างวัด
๑. ที่ดินที่ใช้เป็นสถานที่สร้างวัดต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๖ ไร่ (เว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามสภาพแห่งท้องที่ โดยต้องระบุเหตุผล ความจำเป็น และประโยชน์ที่ประชาชนในท้องถิ่นจะได้รับจากการสร้างวัดนั้น)
๒. เป็นสถานที่สมควรเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์และการประกอบศาสนกิจ
๓. เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ คน (เว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามสภาพแห่ง ท้องที่ โดยต้องระบุเหตุผล ความจำเป็น และประโยชน์ที่ประชาชนในท้องถิ่นจะได้รับจากการสร้างวัดนั้น)
๔. มีเหตุผลที่สนับสนุนได้ว่า เมื่อตั้งเป็นวัดแล้วจะได้รับการทำนุบำรุงส่งเสริมจากประชาชน
๕. ตั้งอยู่ห่างจากวัดอื่นไม่น้อยกว่า ๒ กิโลเมตร (เว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามสภาพแห่งท้องที่ โดยต้อง ระบุเหตุผล ความจำเป็น และประโยชน์ที่ประชาชนในท้องถิ่นจะได้รับจากการสร้างวัดนั้น)
๖. มีหลักฐานที่แสดงถึงจำนวนเงินและสัมภาระที่จะใช้ในการสร้างวัดรวมกันไม่น้อยกว่า ๒ แสนบาท
๗. ผู้ใดจะสร้างวัดในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครอง ให้ยื่นคำขอสร้างวัดต่อผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ และได้รับความเห็นชอบจากเจ้าคณะปกครองสงฆ์ที่สังกัด และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง (แบบฟอร์ม ศถ.๑)
๘. ให้เสนอเรื่องการสร้างวัดพร้อมความเห็นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
๙. เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควรให้สร้างวัดได้ ให้อนุญาตเป็นหนังสือตามแบบ ว.๑ (ใบประกาศ อนุญาตสร้างวัด)
๑๐. ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอสร้างวัดทราบ
๑๑. ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด รายงานการได้รับอนุญาตสร้างวัดให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทราบ เพื่อผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รายงานให้ นายกรัฐมนตรี และมหาเถรสมาคมทราบต่อไป