รายละเอียด
วัดมหาธาตุมีพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย สูงประมาณ 4 วาเศษ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าวัดนี้คงสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. 2510 ทางกรมศิลปกรได้บูรณะพระเจดีย์องค์นี้ ได้ขุดพบลานทองจารึกในพระเจดีย์องค์ใหญ่หลังพระอุโบสถ และได้นำโบราณวัตถุที่บรรจุเจดีย์นั้นขึ้นมาด้วย มีสิ่งหนึ่งที่ได้มาพร้อมกับพระเครื่อง พระบูชา เป็นรูปช้าง รูปหมู ในท้องหมูมีลานทองจาลึกอยู่ 3 แผ่น มีข้อความตามจารึกว่า "พระเจ้าเพชรบุรเป็นลูกพระญาอนรงปรดิสถาแล" เขียน เป็นคำปัจจุบันได้ "พระ เจ้าเพชรบุรเป็นลูก พระยาอันรงประดิษฐานไว้"จึงทำให้เราทราบว่า"เพชรบูรณ์"แต่เดิมนั้นเป็น "เพชรบุร"
ลักษณะเด่น
- เป็นวัดเก่าแก่ คาดว่าสร้างตั้งแต่สมัยสุโขทัย
- มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบสุโขทัย
- เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 2 องค์ คือ หลวงพ่องามและหลวงพ่อเพชร
- มีฐานะเป็นพระอารามหลวง
ประวัติ
นับตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ที่เมืองกุสินาราราชธานี ตราบเท่าจนถึงถวายพระเพลิงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กษัตริย์เมืองต่าง ๆ มีความประสงค์จะได้พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ จึงพากันมายังเมืองกุสินารา เป็นเหตุให้เกิดการยื้อแย่งพระบรมสารีริกธาตุ จนในที่สุดโทณพราหมณ์ ได้ทำหน้าที่ตัดสินความ และได้จัดแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้โดยยุติธรรม เรื่อง นี้ เป็นเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดนิยมเคารพบูชา โดยคิดว่าเมืองไหนที่มีพระบรมสารีริกธาตุ เมืองนั้นจะมีความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชน ตามความในมงคลข้อว่า เมื่อ พุทธปรินิพพานล่วงไปแล้วได้ประมาณ 300 ปีเศษ พระสมณทูตสองรูป คือพระโสณและพระอุตตระ ได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ในท้องที่เขตสุวรรณภูมิ คนไทยและคนชาติอื่น ๆ ในเอเซียอาคเนย์ต่างก็ตื่นตัว และยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และถือคติเหมือนอินเดีย คือแต่ละประเทศ จะต้องมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญ ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุ จึง ถือเป็น คตินิยมของคนไทยในสมัยต่อมาว่า ตรงไหนที่เป็นเมือง ตรงนั้นจะต้องมีพระบรมสารีริกธาตุประจำเมือง โดยถือว่าเป็นองค์แทนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นประมุขของพระพุทธศาสนา แต่ดูเหมือนจะมีได้เฉพาะแต่พระมหากษัตริย์ผู้ครองเมืองเท่านั้น สามัญชนหามีได้ไม่ พระบรมสารีริกธาตุ เป็นของควรแก่สักการะบูชาอย่างสูง คือเป็นของสูงสุด ไม่เหมาะสมที่จะครอบครองไว้เป็นส่วนตัว จำเป็นที่จะต้องประดิษฐานไว้ ณ สถานที่อันเหมาะสมพระเกียรติ เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาของประชาชนทั่วไปทั้งเมืองเมื่อ จะ สร้างพระเจดีย์ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ควรที่จะต้องอยู่ในวัด จึงต้องมีการสร้างวัด ชื่อวัดก็จะต้องพิเศษกว่าวัดอื่น ๆ เพราะเป็นวัดสร้างถวายพระพุทธเจ้า และวัดดังกล่าวนี้ สมควรจะต้องอยู่ในวัง พร้อมกับให้ชื่อว่า วัดมหาธาตุ แปลว่า วัดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ควรแก่การสักการะบูชายิ่งใหญ่ ถึงแม้บางเมือง จะมีชื่อแตกต่างกันไปบ้าง ก็ย่อมจะไม่ทิ้งความหมายเดิมเพราะอยู่ต่างเมืองที่ห่างไกลกัน เช่น วัดมหาตุ วัดธาตุ วัดบรมธาตุ วัดพระศรีรัตนะมหาธาตุ เป็นต้น จึงถือว่าเป็นขัตติยประเพณีการสร้างเมือง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสมัยสุโขทัยเป็นราชธานีว่า จะสร้างเมืองก็ต้องสร้างวัดมหาธาตุ ที่เรียกว่า สร้างวังสร้างวัด ตรงไหนมีเมือง ตรงนั้นก็จะต้องมีวัดมหาธาตุเช่นวัดมหาธาตุเมืองศรีสัชชนาลัย เมืองสุโขทัย เมืองพิษณุโลก เป็นต้น