วัดไพรสณฑ์ศักดาราม พระอารามหลวง

เขตที่ตั้ง

               วัดไพรสณฑ์ศักดาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ ๙๑ ถนนพิทักษ์ ซอยปริยัติธรรม ตำบลหล่มสัก อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๓ งาน ๓๕ ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ ๒๒๑ อาณาเขต ทิศเหนือติดต่อกับที่ดินของนางวรรณทอง ไชยสุวรรณ ทิศใต้ติดต่อกับซอยปริยัติธรรม ทิศตะวันออกติดต่อกับถนนพิทักษ์ และแม่น้ำแควป่าสัก ทิศตะวันตกติดต่อกับหมู่บ้านชาวหล่มสัก และถนนวจีสัตยารักษ์  และมีที่ธรณีสงฆ์ ๑ แปลง เนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๙๓ ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๑ หน้า ๒๑ 
               พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบและลาดเอียงไปทางทิศตะวันตก อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี พระ อุโบสถหลังใหม่กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๑ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๕๐๔ พระวิหารกว้าง ๔ เมตร ยาว ๙ เมตร ศาลาการเปรียญ (ศาลากิมฮวย วัฒนศักดิ์) สร้าง พ.ศ. ๒๕๒๓ กุฏิสงฆ์ จำนวน ๒๐ หลัง นอกจากนี้มีอาคารเรียนพระปริยัติธรรม ๒ หลัง ห้องสมุดแน่งน้อย หอสวดมนต์ อาคารที่ทำการเจ้าคณะจังหวัด สภาบริหารคณะสงฆ์จังหวัด ศาลาธรรมสังเวช และฌาปนสถาน บูชนียวัตถุนอกจากพระพุทธรูป พระประธาน ซึ่งมีขนาดและปางต่าง ๆ แล้ว ยังมีอนุสาวรีย์ ของอดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๑ และที่ ๒

ประวัติความเป็นมา

               วัดไพรสณฑ์ศักดาราม พระอารามหลวง เดิมชื่อ วัดป่า ตำบลวัดป่า อำเภอวัดป่า จังหวัดหล่มสัก วัดป่าสร้างเมื่อราม พ.ศ. ๒๓๘๒ พระสุริยวงศาชนสงครามรามภักดีกรมพาหะ (คง) เจ้าเมืองหล่มสักคนแรกสร้างเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เพื่อใช้เป็นสถานที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาวัดป่ามีประวัติเกี่ยวข้องทาง ประวัติศาสตร์ ซึ่งจำเป็นต้องเล่าถึงปะวัติความเป็นมาของบ้านเมืองพอสมควรเพื่อจะได้ทราบประวัติโดยแจ่มแจ้งชัดเจน เมืองหล่มเก่าเดิมชื่อ “เมืองล่ม” หรือ “เมืองลุ่ม” หรือ “เมืองหล่ม” ซึ่งมีหลักฐานอ้างอิงปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า เมืองล่มนี้มิใช่เป็นเมืองที่ทางราชการตั้งขึ้น แต่เป็นเมืองที่เกิดขึ้นโดยประชาชนร่วมกันสร้าง เราจะเป็นได้ว่านิสัยของคนเมืองหล่มเก่าพร้อมเพรียงกันอย่างน่าชมเชย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าพวกราษฎรชาวศรีสัตนาคนหุต ได้มาพำนักอยู่ก่อนแล้วก่อสร้างเจดียสถานไว้สำหรับเพื่อนบ้าน เหตุที่พากันมาอยู่สร้างเมืองลุ่มนี้ ก็เพราะหนีภัยต่างๆ เมืองจำนวนคนเพิ่มขึ้นก็เกิดเป็นบ้านเมือง ในที่สุดเกิดมีผู้ปกครองแต่ไม่ได้เรียกว่าเจ้าเมือง ใช้คำเมืองเรียกว่า “อุปฮาด” ตามภาษาพื้นเมืองที่ใช้กันเป็นชื่อตำแหน่งเจ้าเมืองของชาวศรีสัตนาคนหุต เมืองลุ่มนี้มาปรากฏมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ขึ้น เมื่อเกิดมีกบฏเจ้าอนุเวียงจันทน์ส่งเจ้าราชวงศ์คุมกองทัพกบฏส่วนหนึ่งมายึด เมืองลุ่ม อุปอาด เจ้าเมืองลุ่มมีกำลังน้อย จึงต้องยอมสวามิภักดิ์ต่อเจ้าราชวงศ์ เมื่อกองทัพพระยาอภัยภูธรกับพระยาพิชัยไอถึงเมืองลุ่ม นายคงชาวพื้นเมืองลุ่มได้อาสานำทัพพระยาอภัยภูธรกับพระยาพิชัยไปถึงเมือง หนองบัวลำภู ทัพไทยจับเจ้าเมืองหรืออุปฮาดเมืองลุ่มได้แล้วสำเร็จโทษ ตำแหน่งอุปฮาดจึงว่างลง ทางราชการพิจารณาความชอบของนายคง ผู้กล้าหาญและซื่อสัตย์ต่อความดีเห็นว่าควรบำเหน็จรางวัลด้วยตำแหน่งอุปฮาด และบรรดาศักดิ์ให้สูงขึ้น ดังนั้นนายคงจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ว่า “พระยาสุริยวงศาชนสงครามรามภักดีวิริยกรมพาหะ”

               พระสุริยวงศาหรือนายคงนี้  ขณะเดินทางจากกรุงเทพฯมายังเมืองลุ่มหรือหล่มได้ผ่านบ้านท่ากกโพธิ์  ซึ่งอยู่ใต้เมืองหล่มลงมาเห็นว่าดินแดนแห่งนี้อุดมสมบูรณ์   เป็นชัยภูมิอันเหมาะที่จะเป็นเมืองอะไรได้สักเมืองหนึ่ง  จึงมาตั้งสร้างเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านท่ากกโพธิ์  ซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำแควป่าสัก  จึงให้ชื่อว่า “หล่มสัก”   ราว  พ.ศ. ๒๓๔๐  ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมืองหล่มสักได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดในนามว่า “จังหวัดหล่มสัก”  ส่วนอำเภอในเมืองให้ชื่อว่า  “อำเภอวัดป่า” เจ้าเมืองหล่มสักคนแรก คือพระสุริยวงศาชนสงครามรามภักดีวิริยกรมพาหะ (คง)  เป็นคนเอาใจใส่ในหน้าที่น่าสรรเสริญกอร์ปทั้งเป็นผู้มีจิตใจฝักใฝ่เอา ภารธุระในทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี  จะเห็นได้สมัยที่มาสร้างเมืองขึ้นใหม่

               ราวพุทธศักราช  ๒๓๘๒  ได้สร้างวัดนี้ขึ้นเป็นวัดของทางราชการสำหรับใช้เป็นที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา  ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดป่า” สร้างขึ้นฝั่งขวาริมแม่น้ำป่าสัก  พระสุริยวงศาฯ ได้สร้างกุฏิขึ้น  ๒  หลัง  ศาลา  ๑  หลัง  โบสถ์  ๑  หลัง  ๑    วิหาร   ๑  หลังหมายเหตุ  จังหวัดหล่มสักได้ยุบเป็นอำเภอชั้นเอก     เมื่อ  พ.ศ.๒๔๗๕  สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองและเศรษฐกิจตกต่ำ
               ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  เมื่อวันที่ ๓๑ เดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๕   เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่  ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕  ได้รับยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง   ชั้นตรีชนิดสามัญ    นับตั้งแต่วันที่   ๓๑  สิงหาคม  พ.ศ.๒๕๒๒ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการลงวันที่   ๒๘   กันยายน   พ.ศ.๒๕๒๒     ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑๖  ตุลาคม  ๒๕๒๒

 การศึกษา
 - มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ      พ.ศ. ๒๔๗๗
 - มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เปิดสอนเมื่อ      พ.ศ. ๒๔๘๙
 - มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา เปิดสอนเมื่อ      พ.ศ. ๒๕๑๙
 - มีมหาวิทยาลัยระดับอุดมศึกษา เปิดสอนเมื่อ      พ.ศ. ๒๕๔๔

 การเผยแผ่พระพุทธศาสนา 
 - มีสภาสังคมสงเคราะห์ หน่วยที่ ๑๐๑ แต่งตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙
 - มีหน่วยอบรมประจำตำบล (อปต) แต่งตั้งเมื่อ  พ.ศ. ๒๕๖๕

 


image รูปภาพ
image
image
image
image

image
image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 298,711